

เคยมีนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง ไอแซค อาซิมอฟ นำเสนอแนวความคิดในเรื่องการสร้างแหล่งผลิตพลังงาน ในอวกาศแล้วส่งกลับมายังพื้นโลก เป็นงานเขียนในทศวรรษ 1940 ในรูปของสถานีอวกาศที่ควบคุมโดยหุ่นยนต์ เพื่อส่งพลังงานกลับมายังโลกผ่านสัญญาณไมโครเวฟ
ในปัจจุบันมีหลายประเทศ ที่ทำโครงการเพื่อพัฒนาแนวความคิดให้เป็นความจริง ทั้งในสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย และญี่ปุ่น
ซึ่งแนวความคิดหลักส่วนใหญ่ จะเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ด้วยดาวเทียม หรือ สถานีอวกาศ จากนั้นจะแปลงพลังงานที่ผลิตได้เป็นคลื่นไมโครเวฟ หรือ เลเซอร์ แล้วส่งกลับมายังโลกเพื่อแปลงเป็นกระแสไฟฟ้า
โซลาร์เซลล์เหมาะสมกับการผลิตในอวกาศ เนื่องจากในอวกาศไม่มีบรรยากาศ จึงไม่มีเมฆบดบัง วงโคจรในอวกาศทำให้ไม่มีกลางคืน สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 365 วัน โดยไม่มีการขาดตอน โครงการของบางประเทศสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้สูงถึง 1 กิกะวัตต์ ซึ่งมากพอที่จะเป็นพลังงานหล่อเลี้ยงเมืองใหญ่ ๆ ได้ทั้งเมือง
ด้าน ดร.พอล จาฟฟี ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอวกาศ ประจำห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัยของกองทัพเรือ เผยว่าสาเหตุสำคัญที่โครงการเหล่านี้ยังไม่ปรากฏเป็นจริงในอนาคตอันใกล้จริง ๆ แล้วเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจเสียมากกว่าปัญหาในเชิงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
ที่ผ่านมา องค์การบริหารการบินอวกาศแห่งชาติ (นาซา) และกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาเคยศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังในตอนปลายทศวรรษ 70 และประเมินต้นทุนในการสร้างสถานีอวกาศสำหรับเป็นแหล่งผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 1 สถานี อาจสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ นั่นหมายถึงว่าต้นทุนต่อหน่วยพลังงานยังไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์เมื่อเทียบกับพลังงานที่ผลิตได้บนพื้นโลกนั่นเอง
©1999-2025 eideas.co,.ltd. all rights reserved www.eideas.co.th