จีเอเบิลชูโซลูชั่นพิสูจน์ตัวตนด้วยไบโอเมทตริก หวังเสริมเกราะป้องกันองค์กรจากอาชญากรรมโลกไซเบอร์

ในปีที่ผ่านมา พบว่าทั่วโลกมีผู้บริโภค 2 ใน 5 คน ถูกขโมยรหัสผ่านและโดนแฮก โดยประเทศไทยตกอยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศที่ถูกแฮกข้อมูลสูงสุด และมีจำนวนสูงสุดของอาเซียน ซึ่งภาคธุรกิจที่มีความเสี่ยงในการถูกโจมตีมากที่สุด คือ ธุรกิจการเงิน หน่วยงานรัฐบาล และธุรกิจด้านสุขภาพ

นายสุเทพ อุ่นเมตตาจิต กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดเผยว่า แม้การใช้งานอุปกรณ์และระบบในปัจจุบันจะสามารถตั้งรหัสผ่านเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานได้ รวมถึงการใช้งานข้อมูลสำคัญขององค์กรธุรกิจบนคลาวด์ บิ๊กดาต้า และโมบาย คอมพิวติ้ง แต่รหัสผ่านอาจมีจุดอ่อนที่สามารถคาดเดาได้ง่าย ทำให้เกิดช่องโหว่ให้อาชญากรไซเบอร์สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งปัจจุบันนิยมการโจมตีด้วยรูปแบบ Social Engineering โดยการใช้เทคนิคทางจิตวิทยาหลอกให้หลงกลเพื่อเข้าระบบ เช่น หลอกถามรหัสผ่าน หลอกให้ส่งข้อมูลที่สำคัญ หลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์ เป็นต้น

รหัสผ่าน

ทั้งนี้ บริษัทจึงก่อตั้งกลุ่มธุรกิจ G-Security เพื่อดูแลงานด้านโซลูชั่นระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งยังร่วมกับบริษัท HYPR Corp. ผู้นำด้านเทคโนโลยีไบโอเมตริกจากสหรัฐอเมริกา หนึ่งในบริษัทของกลุ่มพันธมิตร FIDO Alliance ในการนำเสนอเทคโนโลยีไบโอเมตริกมาใช้อย่างถูกวิธีและพัฒนาโซลูชั่น Biometric Authentication Platform โซลูชั่นพร้อมใช้ตัวแรกของไทย โดยนำเสนอจุดเด่นด้านความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงปลอดภัย และความน่าใช้งาน เพื่อเสริมเกราะป้องกันข้อมูลสำคัญขององค์กร

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้บริษัทได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และจัดตั้งกลุ่มธุรกิจ G-Security ภายใต้นโยบายหลัก 4 ประการในการดำเนินธุรกิจ คือ Security Consulting Service , Security Implementation Service , Security Managed Service และ Security Sustainability Service โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะมุ่งเน้นที่ Security Implementation Service ด้วยการเปิดตัวโซลูชั่น Biometric Authentication Platform เพื่อให้บริการแบบครบวงจรแก่ลูกค้า พร้อมขยายทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ราว 50 คน ภายใต้เป้าหมายในการให้บริการโซลูชั่นดังกล่าวแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจการเงิน 3-5 รายภายในสิ้นปีนี้

ไบโอเมทติก

สำหรับเทคโนโลยีไบโอเมตริก ออเธนติเคชั่น ที่นำมาใช้ในการพัฒนาโซลูชั่น Biometric Authentication Platform นั้น จะทำให้สามารถติดตั้งซอฟต์แวร์เสริมเข้ากับระบบความปลอดภัยเดิมขององค์กร โดยใช้เวลาติดตั้งระบบภายใน 3-6 เดือน พร้อมใช้เครื่องสแกนลายนิ้วมือที่สามารถพกพาได้ง่าย ราคาประหยัด และสามารถใช้งานร่วมกับทุกระบบปฏิบัติการของทุกอุปกรณ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ผู้ใช้สามารถล็อกอินเข้าระบบโดยการสแกนลายนิ้วมือได้ทุกที่ทุกเวลา ถือเป็นการลดความเสี่ยงต่อการโดยขโมยรหัสผ่านหรือลดความยุ่งยากในการจดจำรหัสผ่าน แต่สามารถเสริมความปลอดภัยของข้อมูลสำคัญและความเป็นส่วนตัวได้มากขึ้น

นายภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจ G-Security จีเอเบิล กล่าวว่า วิธีการป้องกันภัยคุกคามบนโลกออนไลน์นั้นมีหลายวิธี อาทิ ระบบควบคุมการเข้าถึง ซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัย ระบบยืนยันตัวตนด้วยรหัสผ่าน เป็นต้น แต่หนึ่งในวิธีที่ปลอดภัย คือ การยืนยันตัวตนก่อนเข้าระบบด้วยเทคโนโลยีไบโอเมตริก ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลทางชีวมิติส่วนบุคคลทางกายภาพ เช่น ลายนิ้วมือ ฝ่ามือ เสียง ม่านตา ใบหน้า ดีเอ็นเอ ฯลฯ รวมถึงการยืนยันทางพฤติกรรม เช่น ลายเซ็น ท่าเดิน เป็นต้น เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนก่อนเข้าระบบ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเริ่มมีการนำไปใช้งานมากขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความคุ้นเคยในการใช้งานจากผู้บริโภคทั่วไปที่ใช้สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ จากการสแกนลายนิ้วมือเพื่อปลดล็อกสมาร์ทโฟน หรือยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกรรมผ่านโมบาย เพย์เมนท์ รวมถึงการยืนยันตัวตนเพื่อสั่งการเครื่องใช้ไฟฟ้าที่รองรับเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เชื่อว่าเทคโนโลยีไบโอเมตริกจะกลายเป็นอนาคตของมาตรการการรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ในอนาคตอันใกล้.

 

อ้างอิง: www.thairath.co.th/content/651369


วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

©1999-2024 eideas.co,.ltd. all rights reserved www.eideas.co.th